การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์ถึงรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดคดีเมาแล้วขับด้วยการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ในจังหวัดราชบุรี รูปแบบการวิจัยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ พื้นที่วิจัย คือจังหวัดราชบุรี กลุ่มตัวอย่าง คือ เจ้าพนักงานคุมประพฤติในส่วนกลุ่มงานสอดส่องและแก้ไขฟื้นฟูที่ปฏิบัติงานในจังหวัดราชบุรี และประชาชนผู้ที่ถูกคุมประพฤติในคดีเมาแล้วขับในจังหวัดราชบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ชนิด คือ 1) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 2) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า ในจังหวัดราชบุรีแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิดมุ่งเน้นไปที่การให้ผู้กระทำความผิดได้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นหลัก และใช้ระบบการเก็บจำนวนชั่วโมงการบำเพ็ญประโยชน์เป็นเกณฑ์ประเมินในการบรรลุตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบที่มีแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้กระทำความผิดแบบเป็นกลางโดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และการสร้างจิตสำนึกต่อสังคมให้กับตัวผู้กระทำความผิด แต่ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ในจังหวัดราชบุรีผู้กระทำความผิดมีสาเหตุของปัญหาในการกระทำความผิดหลายสาเหตุ ส่งผลให้ปัญหาที่ก่อให้เกิดการดื่มสุรายังคงมีอยู่เช่นเดิมแม้จะผ่านการเข้าร่วมโครงการบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แล้ว เป็นการยากที่จะใช้รูปแบบการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมที่เหมือนกันมาแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดที่มีสาเหตุในการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิดกรณีเมาแล้วขับโดยตรงไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำความผิดไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำ ข้อค้นพบจากงานวิจัยคือ รูปแบบการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดกรณีเมาแล้วขับในส่วนของการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ดังกล่าว ควรมีการใช้รูปแบบผสมผสานกับการแก้ไขฟื้นฟูในวิธีการอื่นด้วย เช่น การใส่กำไลข้อเท้า (EM) การรายงานตัวตามคำสั่งศาล หรือการให้คำปรึกษาเฉพาะราย (MI) เป็นต้น การค้นพบนี้สามารถเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิดกรณีเมาแล้วขับในจังหวัดราชบุรี โดยนำไปเป็นแนวทางในการวางรูปแบบการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
The objectives of this research were to analyze the pattern of behavior modification of drunk driving offenders: a case study of Social Service or Public Benefit in Ratchaburi Province. The research model is qualitative research. The research area is Ratchaburi Province. The samples consisted are the Surveillance and Rehabilitation Probation Officer in Ratchaburi Province and the drunk driving offenders under rehabilitation programs in Ratchaburi Province. There are 2 types of research tools: 1) Structured interviews 2) Focus Group Discussion. The research founded the Implementing of drunk driving offenders In Ratchaburi Province. There are focus on social service and public benefit activities and use the system of collecting hours of service as an evaluation criterion in fulfilling the probation conditions. This format is a base guideline for treating the offenders by focusing on providing knowledge and public awareness to the offenders. However, this research found the information about the diversity of reason for the cause of drunk driving offense in Ratchaburi Province. It causes unstable efficiency resulting in behavior modification of drunk driving offenders as it should be. Especially, in the issue of recidivism. The findings from this research suggested the behavior modification of drunk driving offenders in terms of social service and public benefit should be used in combination method with other types of behavior modification such as Electronic Monitoring (EM), reporting by court order or Motivational Interviewing (MI). This finding can be useful for the staff working on behavior modification of drunk driving in Ratchaburi Province. By using as a guideline for set up the pattern of behavior modification of drunk driving offenders for further efficiency.